ประวัติบัณฑิตวิทยาลัย มมร 24 กรกฎาคม 256224 กรกฎาคม 2019jetsadaเกี่ยวกับ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรมราชานุญาตให้ตั้งวิทยาลัยขึ้นในบริเวณวัดบวรนิเวศวิหาร พระราชทานนามว่า“มหามกุฏราชวิทยาลัย” เพื่อเป็นที่ศึกษาเล่าเรียนของภิกษุสามเณร ทรงอุทิศ พระราชทรัพย์บำรุงประจำปี สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นประธานเปิดมหามกุฏราชวิทยาลัย เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2436 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์สืบมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ 1) เพื่อเป็นสถานศึกษาพระปริยัติธรรมของพระสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย 2) เพื่อเป็นสถานศึกษาวิทยาอันเป็นของชาติภูมิและของต่างประเทศแห่งกุลบุตร 3) เพื่อเป็นสถานศึกษาคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนา เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2488 สมเด็จสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ในฐานะนายกกรรมการมหาวิทยาลัย ได้ประกาศตั้งสถาบันการศึกษาชั้นสูงในรูปของมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาขึ้น เรียกว่า “สภาการศึกษาของมหามกุฏราชวิทยาลัย” โดยมีวัตถุประสงค์คือ 1) เพื่อเป็นสถานศึกษาพระปริยัติธรรม 2) เพื่อเป็นสถานศึกษาวิชาของชาติและของต่างชาติ 3) เพื่อเป็นสถานเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งในและนอกประเทศ 4) เพื่อให้ภิกษุสามเณรมีความรู้และความสามารถในการบำเพ็ญประโยชน์แก่ประชาชนได้ดียิ่งขึ้น 5) เพื่อให้ภิกษุสามเณรมีความรู้และความสามารถในการค้นคว้า โต้ตอบหรืออภิปรายธรรมได้อย่างกว้างขวางแก่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ 6) เพื่อให้ภิกษุสามเณรได้เป็นกำลังสำคัญในการจรรโลงพระพุทธศาสนา และเป็นศาสนทายาทที่เหมาะสมแก่กาลสมัย 7) เพื่อความก้าวหน้าและคงอยู่ตลอดเวลาของพระพุทธศาสนา อาศัยแนวปฏิบัติตามความในคำสั่งของมหาเถรสมาคมว่าด้วยเรื่อง การศึกษาของมหาวิทยาลัยสงฆ์ พ.ศ. 2512 ความว่า “ถ้าเป็นการสมควรมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งจะร่วมจัดการศึกษาชั้นบัณฑิตวิทยาลัยอีกส่วนหนึ่ง โดยอนุมัติของสภามหาวิทยาลัยสงฆ์ก็ได้” ด้วยเหตุนี้ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย จึงได้จัดตั้ง “บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย” ขึ้นเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2530 เพื่อทำการสอนในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก โดยมีวัตถุประสงค์ คือ 1) เพื่อผลิตนักวิชาการทางพระพุทธศาสนาและปรัชญาให้มีคุณวุฒิและคุณสมบัติ 2) เพื่อผลิตพระภิกษุนักบริหาร นักพัฒนา นักวิจัย และนักเผยแผ่ตามหลักธรรมทาง พระพุทธศาสนา 3) เพื่อส่งเสริมการศึกษา ภาษา ศิลปวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาและปรัชญา 4) เพื่อส่งเสริมการศึกษา ค้นคว้า และวิจัยทางพระพุทธศาสนาและปรัชญา ในเบื้องต้น บัณฑิตวิทยาลัยได้เปิดการเรียนการสอนเป็นปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2531 อยู่เพียง 2 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาพุทธศาสนนิเทศ ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นสาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษา และสาขาวิชาพุทธศาสนาและปรัชญา โดยพระเทพปริยัติวิมล (แสวง ธมฺเมสโก) เป็นผู้มีบทบาทในการดำเนินการก่อตั้งบัณฑิตวิทยาลัย และมีพระธรรมไตรโลกาจารย์ (พูนศักดิ์ วรภทฺทโก) ป.ธ.8, ศน.บ., M.A., Ph.D.) เป็นคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยรูปแรก ปัจจุบันพระมหาบุญศรี ญาณวุฑฺโฒ, ผศ.ดร. เป็นรักษาการคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย ในปีการศึกษา 2545 สภามหาวิทยาลัยในการประชุมครั้งที่ 1/2545 เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 มีมติให้บัณฑิตวิทยาลัยเปิดการเรียนการสอนแก่นักศึกษาคฤหัสถ์รุ่นแรกในสาขาวิชาพุทธศาสนาและปรัชญา และสภามหาวิทยาลัยได้อนุมัติเปิดหลักสูตรศาสนาศาสตรดุษฎีบัณฑิต ในการประชุมครั้งที่ 4/2548 วันพุธที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2548 เป็นรุ่นแรกในสาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษา บัณฑิตวิทยาลัยมีวิวัฒนาการเจริญก้าวหน้ามาเป็นลำดับ ได้ย้ายสำนักงานที่ทำการจาก ตึก สว.ธรรมนิเวศ ชั้นที่ 5 วัดบวรนิเวศวิหาร มา ณ อาคารสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส อาคาร B 7.1 มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ศาลายา นครปฐม ลำดับการเปิดสอนหลักสูตร ของบัณฑิตวิทยาลัย 2535 เปิดสอนปริญญาโท สาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษา 2535 เปิดสอนปริญญาโท สาขาวิชาศาสนาและปรัชญา 2545 เปิดรับนักศึกษาคฤหัสถ์รุ่นแรก สาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษา ปริญญาโท 2547 เปิดสอนปริญญาโท สาขาวิชารัฐศาสตร์การปกครอง รับบรรพชิต/คฤหัสถ์ 2547 เปิดสอนปริญญาโท สาขาวิชาสังคมวิทยา รับบรรพชิต/คฤหัสถ์ 2548 เปิดสอนปริญญาเอก สาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษา รับบรรพชิต/คฤหัสถ์ 2550 เปิดสอนปริญญาเอก สาขาวิชาศาสนาและปรัชญา รับบรรพชิต/คฤหัสถ์ 2551 เปิดสอนปริญญาโท สาขาการจัดการศึกษา รับบรรพชิต/คฤหัสถ์ FacebookFacebookXXLINELine