เมื่อวันที่ ๑ – ๒ พฤษภาคม ๒๕๖๗​ (​ที่ผ่านมา) มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ได้จัดอบรมโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการทบทวน และจัดทำแผนพัฒนามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ระยะ ๕ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๗ – ๒๕๗๑)

โดยได้รับความเมตตาจาก พระเทพวัชรเมธี, ผศ.ดร. อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ และได้รับเกียรติจาก ผศ.ประเสริฐ อัครประถมพงศ์ และอาจารย์วรโชค ไชยวงศ์ ที่ปรึกษามหาวิทยาลัย เป็นวิทยากร บรรยายในหัวข้อเรื่อง แนวทางการจัดทำแผน เพื่อตอบสนองความท้าทาย โอกาส และเป้าหมายสำคัญของมมร ในอนาคต อีกทั้งมีผู้บริหารจากส่วนกลางและผู้บริหารวิทยาเขตเข้าร่วมการอบรม ณ โรงแรม รอยัล ริเวอร์ จรัญสนิทวงศ์ กรุงเทพมหานคร ซึ่งวัตถุประสงค์ในการจัดอบรมในครั้งนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจต่อแผนงานหลักของมหาวิทยาลัย และสร้างแนวคิดให้กับบุคลากรในการจัดทำแผนการปฏิบัติของทุกส่วนงาน เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกัน อันจะนำไปสู่ผลสำเร็จตามแผนที่ได้วางร่วมกัน

อธิการบดีกล่าวว่า “มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยมีการวางแผนพัฒนามหาวิทยาลัยในระยะ ๕ ปี ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก ตามที่สภามหาวิทยาลัยได้อนุมัติแผนระยะ ๕ ปีในครั้งที่ผ่านมา และเป็นแผนแม่บทในการวางแผนในระยะถัดมา รวมถึงการทบทวนและจัดทำแผนพัฒนาในครั้งนี้ ในระหว่างที่มหาวิทยาลัยใช้แผนพัฒนาระยะที่ผ่านมา ได้มีการจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา และมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยได้จัดอยู่ใน “มหาวิทยาลัยกลุ่มพัฒนาปัญญาและคุณธรรมด้วยหลักศาสนา” ซึ่งได้กำหนดบทบาทหน้าที่ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยในฐานะมหาวิทยาลัยทางพระพุทธศาสนา จึงได้อนุวัตแนวทางนี้ในการดำเนินการในช่วงปีที่ผ่านมา และเป็นปฐมบทแห่งการเปลี่ยนผ่านสู่แผนพัฒนาฉบับใหม่ที่ทุกท่านในที่นี้จะได้มีส่วนร่วมกันรังสรรค์ขึ้น ขอย้อนไปถึงเมื่อครั้งอดีตที่มีการสถาปนามหามกุฏราชวิทยาลัย และสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย ก็เพื่อเป็นสถาบันการศึกษาขั้นสูงทางพระพุทธศาสนา และเป็นมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย เจตนารมณ์นี้ยังคงอยู่ทุกประการ ตามแนวทาง “วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน”
แต่เมื่อเดินทางมาถึง ๑๓ ทศวรรษแห่งการสถาปนา ในโลกยุคดิจิทัลที่เราท่านทั้งหลายต่างทราบบริบทกันดี และเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง เราได้วาง ๕ วิถี เป็นแนวทางตามที่ปรากฏในแผนพัฒนา ซึ่งนอกจากเป็นการทำนุบำรุงและรักษาแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา และสืบสานเจตนารมณ์ของบูรพาจารย์แล้ว ยังทำให้มหาวิทยาลัยสามารถเดินก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง ไม่หลงทาง พร้อมกับได้เชิญชวนให้ทุกคนมีส่วนร่วม ในการพัฒนา มมร ไปด้วยกัน”

การจัดโครงการดังกล่าว ถือเป็นกิจกรรมที่มีสำคัญและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริหารมหาวิทยาลัย โดยมีกิจกรรมอภิปราย เรื่อง แนวทางการจัดทำแผน เพื่อตอบสนองความท้าทาย โอกาส และเป้าหมายสำคัญของมมร ในอนาคต รวมไปถึงปฏิบัติการร่วมกันนำเสนอ และวิพากษ์แผนพัฒนา วิถีที่ ๑ ถึง ๕ เพื่อนำไปสู่การจัดทำแผนพัฒนามหาวิทยาลัย ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน อีกทั้งยังมีการระดมความคิดจัดทำโครงการสำคัญเพื่อพัฒนามหาวิทยาลัย โดยดำเนินการข้ามวิถี ข้ามศาสตร์ ข้ามสถาบัน เน้นผลสัมฤทธิ์ มีการนำเสนอโครงการพัฒนาสำคัญ และแลกเปลี่ยนความคิดร่วมกันจนเกิดข้อสรุปออกมาเป็นแผนพัฒนามหาวิทยาลัย วิถีที่ ๑ ถึง ๕ เพื่อวิเคราะห์ ทบทวน รายงานสรุปผลการดำเนินการที่ผ่านมา ตามภารกิจและแผนพัฒนามหาวิทยาลัยในช่วง ๕ ปี ตลอดจนขับเคลื่อนและพัฒนามหาวิทยาลัยต่อไป

ภาพเพิ่มเติม –>>